เชียงรายยูไนเต็ด เตรียมปรับทัพใหญ่ ดึงซีอีโอบริษัทออกแบบระดับเอเชีย นั่งแท่นที่ปรึกษาด้านการตลาด ตอกย้ำภาพลักษณ์ “กว่างโซ้งไม่ได้เจ๋งแค่ในสนาม"
สโมสรฟุตบอลเชียงรายตอกย้ำศักยภาพ ทีมไทยลีกระดับภูมิภาค ทีมเดียวที่สามารถขับเคี่ยวกับคู่แข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับในภาคสนาม ว่าเป็น 1 ใน 5 ทีมระดับประเทศที่น่าจับตามอง โดยล่าสุดประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด หรือ กว่างโซ้ง เตรียมอัดงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท ในการปรับภาพลักษณ์พร้อมก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Sport Marketing อย่างเต็มตัว โดยมอบหมายให้กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและสื่อสารการตลาด และตอกย้ำภาพลักษณ์เชิงรุกอย่างชัดเจน มั่นใจว่าจะสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นทีมชั้นนำภายใน 2 ปี พร้อมขยายฐานแฟนบอลทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 100% ส่งผลให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด เปิดเผยถึงการปรับภาพลักษณ์ในครั้งนี้ ว่า “ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดธุรกิจกีฬาในบ้านเรามีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกีฬาประเภทฟุตบอล ซึ่งที่ผ่านมา ทีมเชียงรายยูไนเต็ด หรือ กว่างโซ้ง นับเป็นทีมหนึ่งที่มีผลงานโดดเด่น จนเป็นที่ยอมรับ ในระดับมืออาชีพ ทั้งในด้านบุคลากร และด้านการบริหารองค์กร เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของกลุ่มให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดได้มอบหมายให้ กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด นำโดย ดร.กุลเดช สินธวณรงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้าหารือคณะกรรมการสโมสร และแต่งตั้งให้ เป็นที่ปรึกษาของสโมสร เพื่อเสริมสร้างยุทธศาสตร์ของแบรนด์และการตลาดรวมถึงโครงสร้างการบริหารการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของเชียงรายยูไนเต็ดในฐานะ Sport Passions ที่ไม่ใช่แค่แบรนด์ทีมฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทิศทางการดำเนินงานและส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การบริหารทีมฟุตบอลเชียงรายยูไนเต็ดอย่างมืออาชีพและยั่งยืน
โดยทางบริษัทในกลุ่มจาร์เค็นที่ให้บริการด้านการสร้างแบรนด์ จะเข้ามาดูแลในส่วนของการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกระบบการบริหารการจัดการสปอนเซอร์ชิป การตลาด ของที่ระลึกและร้านค้า การออกแบบกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์แบบ 360 องศาทั้งหมด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ระดับเอเชีย แบรนด์ระหว่างประเทศและการออกแบบการสื่อสารการตลาดเป็นอย่างดี โดยมีนายธนพล วิระเทพสุภรณ์ รองประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด เป็นผู้ดูแลด้านการบริหารจัดการ และการตลาดทั้งหมดของสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด”
สำหรับ ดร. กุลเดช สินธวณรงค์ ซึ่งไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบ สร้างและพัฒนา consumer brand retail brand และ corporate brand กว่า 18 ประเทศทั่วเอเชียและยุโรป กล่าวว่า “การรุกเข้ามาทำ sport marketing brand ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะฟุตบอลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยมานานแล้ว และการมีฟุตบอลอาชีพยังสร้างมิติใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทย ส่วนตัวยังคิดว่ามีโอกาสอย่างชัดเจนในการพัฒนาให้แบรนด์เชียงรายยูไนเต็ดเติบโตให้ยิ่งใหญ่ขึ้นสำหรับการรับรู้ในอีกหลายๆกลุ่ม ซึ่งผมและประธานสโมสรมองตรงกันว่า นอกเหนือจากชัยชนะในสนามที่ต้องได้ เรายังต้องมีชัยชนะนอกสนามอีกด้วย”
ทั้งนี้ ดร. กุลเดช ได้เปิดเผยถึง ขั้นตอนการดำเนินงานในส่วนนี้ เพิ่มเติมว่า “ เราได้วางแผนการพัฒนาแบรนด์ของเชียงราย ฯ ไว้ 1 - 3 ปี แบ่งออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน เฟสแรก จะมุ่งเน้นการปรับจากภายนอกสนาม อาทิ โลโก้ของสินค้า จากเดิมใช้ตัวย่อ “CRUTD” ซึ่งได้มีการทำรีเสิร์ชถึงการรีแบรนด์ของชื่อย่อใหม่ เป็น “CR” เพื่อทำให้สะดุดตา จดจำง่าย ทันสมัย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้า เฟสที่ 2 เป็นการต่อยอดจากโลโก้ “CR” ในการออกแบบและผลิตสินค้าใหม่ๆ อาทิ เสื้อยืด กางเกง หมวก ของที่ระลึกต่างๆ และชุดกีฬา sport wear คอลเลคชั่นพิเศษ สำหรับผู้หญิง รวมไปถึงการเปิด Shop ใหม่ที่สยามสแควร์ และเพลงเชียร์ใหม่ โดยนักร้องนักแต่งเพลงมืออาชีพ เฟสที่ 3 เป็นเรื่องของในสนาม กับการรีโนเวทสนามเชียงรายยูไนเต็ด ให้เป็น sport destination และมีฟังก์ชั่นการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้คอนเซ็ปต์บ้านของกว่าง ที่มีลักษณะเป็นโพรงไม้ แสดงให้เห็นถึงความเติบโตของกว่างในแต่ละโซน สามารถรองรับผู้เข้าชมได้ 22,000 ที่นั่ง
นอกจากนั้นยังมีการสร้างโรงแรม ซึ่งทั้งโรงแรมและสนามเชียงรายยูไนเต็ด คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ในปี 2561 โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การดำเนินการ (Performance) 70% การตลาดและประชาสัมพันธ์ 30%
โดยล่าสุดทางกว่างโซ้ง ดำเนินการจัดซื้อนักกีฬาอาชีพจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมทัพให้แข็งแกร่ง มั่นใจว่าในเลก 2 จะสามารถสร้างผลงานให้อยู่ในลำดับต้นๆของตาราง อย่างไรก็ตามในปี 2559 นี้กว่างโซ้ง ตั้งเป้าอัตราการเติบโต จากไม่มีกำไรให้สามารถมีกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” ดร. กุลเดช กล่าวสรุป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น