"ดอร์ทมุนด์" เปิดบ้านรับ "สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่ " โชว์ศักยภาพเคล็ดลับความยิ่งใหญ่ ก่อนผนึกกำลังปั้นเยาวชนไทยสู่นักเตะอาชีพ
โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แชมป์บุนเดสลีกา เยอรมนี 8 สมัย เปิดรังเหย้าและสนามซ้อมหลักของทีมต้อนรับคณะผู้บริหารของ "อบจ.สุพรรณบุรี" และ "บริษัท สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่ จำกัด" ในฐานะพันธมิตรจากประเทศไทย พร้อมโชว์ศักยภาพความพร้อมมาตรฐานระดับโลกและเทคโนโลยีไฮเทค"Footbonaut" ในการช่วยให้นักเตะแต่ละคนสามารถจ่ายบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นเคล็ดลับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทีมในการปั้นแข้งเยาวชน ก่อนร่วมกันสร้างโปรเจกต์ยักษ์ “สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่”
ความเคลื่อนไหวหลังจากที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย บริษัท สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่ จำกัด ร่วมเซ็นสัญญาผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกับสโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แชมป์บุนเดสลีกา เยอรมนี 8 สมัย ในการสร้างโปรเจกต์ “สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่” หรือ SPFA ศูนย์ฝึกลูกหนังระดับเยาวชนครบวงจรแห่งแรกของเมืองไทย เพื่อต่อยอดสู่โครงการ "ดรีม 11" เฟ้นหาแข้งเยาวชนไทยฝีเท้าดีจากทั่วประเทศ 18 ราย ปลุกปั้นสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
ล่าสุด นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย นายธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่ จำกัด และ นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิวส์ กรุ๊ป บางกอก จำกัด ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับ ลาร์ส ริคเค่นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลอะคาเดมี่ ของสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เพื่อหารือเตรียมความพร้อมกับโครงการที่จะเกิดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของทางสโมสร ก่อนจะเดินชมสนาม ซิกนัล อิดูนา พาร์ค รังเหย้าของทีมทุกซอกทุกมุม
จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทางคณะผู้บริหารจากประเทศไทยได้เดินทางเข้าชมสนามฝึกซ้อมหลักของสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทั้งในส่วนสนามซ้อมของทีมชุดใหญ่ และสนามซ้อมของทีมชุดเยาวชน โดยมี มาร์ค พูลิซิช ผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลอะคาเดมี ซึ่งเป็นบิดาของ คริสเตียน พูลิซิช ดาวรุ่งเลือดใหม่ของทัพ "เสือเหลือง" เป็นผู้พาชมและแสดงตัวอย่างการฝึกซ้อมของทีมอะคาเดมีด้วยตนเอง โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การใช้เครื่อง "Footbonaut" ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่สำคัญในการปลุกปั้นเยาวชนของทีม เนื่องจากเป็นสโมสรอาชีพแห่งแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีไฮเทคในการช่วยให้นักเตะแต่ละคนสามารถจ่ายบอลได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระบบ Footbonaut จะเน้นรูปแบบของการจ่ายบอลสั้นแต่รวดเร็ว โดยรูปแบบจะเป็นการปล่อยบอลออกจากเครื่องยิงอัตโนมัติ 4 จุดรอบด้าน ให้ผู้เล่นได้ฝึกฝนการจับบอล ผ่านบอล และยิงบอล ไปตามเป้าหมายต่างๆ รอบตัว ท่ามกลางแสง สี เสียง ที่สนุกสนาน
" สำหรับรายละเอียดของ Footbonaut นั้นเป็นอุปกรณ์ที่มีเครื่องจ่ายบอลติดตั้งอยู่ 4 ทิศทางบนพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 14 เมตร ซึ่งตัวนักเตะจะต้องยืนในวงกลมกลางพื้นที่และสังเกตลูกฟุตบอลจากเครื่องจ่าย บอลที่ยิงสุ่มออกมา ก่อนที่จะจ่ายบอลกลับไปยัง 1 ใน 64 ช่องรอบตัวที่มีแสงไฟปรากฏขึ้น โดยทุกความเคลื่อนไหวและข้อมูลต่างๆจะเชื่อมโยงไปยัง iPad ของโค้ชผู้ดูแลในทันที "
ภายหลังรับชมการสาธิต นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สนามซ้อมแห่งนี้ดูเรียบง่ายดี การก่อสร้างไม่หวือหวาจนเกินไป แต่เต็มไปด้วยคุณภาพในการฝึกฝนนักเตะ และยังมีการดูแลรักษาที่ดีมาก จึงถือว่าเป็นสนามที่เหมาะสำหรับการฝึกเด็กที่ยอดเยี่ยม และน่านำกลับใช้ไปเป็นต้นแบบ ซึ่งเชื่อว่าหากเด็กไทยได้มาฝึกฝนที่นี่จะได้เรื่องแทคติกและเรื่องโปรแกรมฝึกสอนที่ได้มาตรฐาน ผมเชื่อว่าอะคาเดมี่นี้เน้นพื้นฐานจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าเด็กไทยได้ฝึกในวิธีที่ถูกต้องก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ส่วนเครื่อง "Footbonaut" นั้นสุดยอดมาก การเป็นเครื่องอัตโนมัติทำให้ช่วยเบาแรงไปได้เยอะ และยังถูกออกแบบมาให้มีสีสัน มีเสียงเพลง ทำให้เด็กมีความสนุกสนานและกระตือรือร้น
ขณะที่ นายธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่ จำกัด ในฐานะผู้ดูแลโครงการ "ดรีม 11" กล่าวว่า ประทับใจเป็นอย่างมาก สนามฝึกซ้อมมีการแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน รวมถึงเครื่อง "Footbonaut" ที่เชื่อว่าจะมีประโยชน์ในการเรียกศักยภาพด้านสกิลของเยาวชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางสโมสรได้รับปากว่าเด็กในโครงการดรีม 11 จะได้ร่วมใช้โปรแกรมฝึกซ้อมนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การได้หารือกับ ลาร์ส ลิคเค่น ซึ่งเป็นหัวหน้าโค้ชอะคาเดมี่ของทีม ทำให้ได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์มาพัฒนาโครงการอีกมากมาย เนื่องจากทางสโมสรให้ความสนใจกับโครงการนี้ รวมถึงมีความเห็นที่ตรงกันว่าควรจะทำโปรแกรมในช่วงอายุ 14 ปี ซึ่งตรงกับที่ทาง อบจ.สุพรรณบุรี ให้การสนับสนุนการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งหลังจากนี้มีเวลาเตรียมการทั้งหมดอีก 2-3 เดือนเพื่อให้โครงการออกมาได้ดีที่สุด
สำหรับโปรเจ็ค “สุพรรณบุรี ฟุตบอล อะคาเดมี่” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเตะเยาวชนไทยให้มีฝีเท้าที่ได้มาตรฐานระดับสากลอย่างแท้จริง และต่อยอดสู่การป้อนนักเตะในโครงการสู่การเป็นนักเตะอาชีพลงเล่นในลีกประเทศไทย และต่างแดน โดยจะเปิดคัดนักเตะเยาวชนจากทั่วประเทศไทย เพื่อเฟ้นหา 11 ผู้เล่นที่ดีที่สุดในแต่ละตำแหน่ง และผู้เล่นสำรองอีก 7 ราย เข้าสู่โครงการ “ดรีม 11” (DREAM 11) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในฐานะพาร์ตเนอร์ ด้วยการส่งโค้ชมืออาชีพของทีมมาฝึกฝนทั้งนักเตะ และโค้ชถึงเมืองไทย รวมถึงเป็นผู้คัดเลือกนักเตะด้วยตนเองภายใต้มาตรฐานระดับโลก ร่วมกับนักเตะตัวจริงของทีมชาติไทย และโค้ชอาวุโสระดับ เอ-ไลเซนส์ ตลอดจนฝึกอบรมโปรแกรมการตลาด การทำระบบ “ซื้อ-ขายนักเตะ” ที่มีมาตรฐานสากล โดยเด็กที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 18 คน จะได้ฝึกซ้อมและแข่งขันกับทีมเยาวชนของ "เสือเหลือง" ที่ประเทศเยอรมนี ท่ามกลางแมวมองจากสโมสรชั้นนำทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางมาร่วมชมฝีเท้า เพื่อโอกาสในการเซ็นสัญญาเข้าสังกัด พร้อมกันนี้จะมีการทำรายการทีวี "ดรีม 11" ที่จะติดตามเฟ้นหาสุดยอดนักเตะจากทั่วประเทศเข้าสู่โปรแกรมระดับโลก โดยโครงการนี้จะเริ่มเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 เป็นต้นไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น